เมื่อ “Podcast” มีพลังมากกว่า “เสียง” และกำลังจะกลายเป็น “โอกาส” โฆษณาของแบรนด์


“Podcast” เป็นหนึ่งมีเดีย เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ เป็นคอนเทนต์แพลตฟอร์ม หรือเป็นเพียงออดิโอคอนเทนต์ แต่ในปัจจุบัน Podcast เริ่มมีบทบาทสำหรับ “แบรนด์” มากขึ้น ในงาน iCreator Conference 2020 ก็มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยกับมุมมอง “การมาของ Podcast ทำไมแบรนด์ถึงควรลงทุน” โดย 3 กูรูในโลกแห่งเสียงอย่าง ชินทัต พรหมโชติ จาก KooHoo Podcast, นทธัญ แสงไชย จาก Salmon Podcast และ พลสัน นกน่วม จาก GetTalks Podcast ซึ่งทั้ง 3 คนได้ร่วมกันพูดคุยและแสดงความเห็นถึงประเด็นต่าง ๆ กับทิศทางของ Podcast ว่า…

สถานการณ์ “Podcast” กับ “สังคมดิจิทัล”

พลสัน เล่าว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือจำนวนผู้ฟัง Podcast ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับจำนวนผู้ผลิต เมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อนที่ Podcast ยังเป็นเพียงคอนเทนต์หน้าใหม่ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งคอนเทนต์ที่ส่วนตัวสนใจ คือแนว Stand-up Comedy ซึ่งต้องใช้ศาสตร์การเล่าเรื่องตลกกับการเล่าสไตล์ Podcast เข้าด้วยกัน

นทธัญ เสริมว่า ไม่ใช่แค่คนฟังหรือคนทำ Podcast แต่ปัจจุบันแบรนด์ก็เริ่มให้ความสนใจกับวงการนี้มากขึ้น คอนเทนต์มีมีความสนุกและมีหลากหลายมาก มุมมองการทำ Podcast จึงมีเรื่องที่คิดไม่ถึงมากขึ้น เช่น การทำรายการท่องเที่ยว ASMR หรือแม้แต่ละครวิทยุ ก็มีให้เห็น แต่ก็ทำให้เกิดกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลายขึ้นด้วยเช่นกัน

“คนส่วนใหญ่จะคิดว่า COVID-19 ทำให้คนฟัง Podcast มากขึ้นแน่ ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือลดลง เพราะพฤติกรรมการฟัง Podcast ส่วนใหญ่คือตอนทำกิจกรรมระหว่างวัน เช่น ออกกำลังกาย เดินทาง หรือตอนทำงาน”

เช่นเดียวกับ ชินทัต ที่บอกว่า บางเจนเนอเรชั่นอาจเข้าใจ รู้จักมากขึ้นแล้ว แต่ก็มีบางเจนที่ยังต้องทำความเข้าใจ เพราะ Podcast ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเทนต์สาระอย่างเดียว แต่เอนเตอร์เทนเมนต์ก็ทำได้ ภาพรวมของ Podcast ในไทยตอนนี้จึงเป็นการเพิ่มจำนวนดาวน์โหลด เพิ่มระยะเวลาการฟังให้มากขึ้น

ความท้าทายของ Podcast กับการทำโฆษณาของแบรนด์ อยู่ที่…?

ชินทัต : ส่วนตัว ในอดีตมีข้อจำกัดอยู่ที่การนำเสนอไอเดียรายการ แต่ก็พยายามให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ ทั้งเรื่องสัญชาตญาณของตนเองและในเชิงธุรกิจ ซึ่งพอเริ่มทำและมีประสบการณ์ก็ทำให้แนวคิดเริ่มง่ายขึ้น เข้าใจแนวทางและการวางแผนคอนเทนต์ได้ดีขึ้น สำหรับการใช้ Podcast ของแบรนด์ มองว่าโจทย์หลักคือการตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ ว่าอยากใช้ประโยชน์เพื่อทำอะไร สร้างการรับรู้ในแบรนด์ สินค้าบริการ หรือเป็นช่องทางโฆษณา หรือทำให้เกิดโอกาสกับสินค้า

“Podcast ทำได้หลายรูปแบบ เราเคยคิดว่ามันคือคอนเทนต์สำหรับฟังอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้ว Podcast สามารถอยู่บน YouTube หรือ TikTok ก็ได้ ไม่ใช่แค่เสียงอย่างเดียว”

พลสัน : ในอดีต ความยากคือการที่คนไม่รู้จัก Podcast แต่ตอนนี้คือการทำให้เข้าใจว่าสามารถทำโฆษณาบน Podcast ได้แล้ว เป็นพื้นที่เป็นโอกาสใหม่ของแบรนด์ เพราะวันนี้ Podcast สามารถขึ้นไปอยู่ได้ทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะ TikTok หรือ YouTube แถมยังมียอดวิวดีกว่าที่คิด ซึ่งในตอนนี้แบรนด์เองก็เริ่มเข้าใจและเปิดใจกับการทำโฆษณาบน Podcast มากขึ้นแล้ว แต่โจทย์ใหญ่คือการทำให้แบรนด์รู้ว่าเราตอบโจทย์เขาได้อย่างไรบ้างบน Podcast

นทธัญ : การที่ผู้ฟังเข้าใจ Podcast ถือเป็นเรื่องดี แต่ในส่วนของแบรนด์อาจยังนึกไม่ภาพการลงโฆษณาไม่ออก ตอนนี้ Podcast จึงเน้นที่การสร้างความรู้กับแบรนด์มากกว่า ว่าสามารถทำโฆษณาด้วยภาพและเสียงแบบ Podcast ได้อย่างไรบ้าง ยิ่งมี YouTube Premium ยิ่งทำให้คนฟัง Podcast มากขึ้น แต่ไม่ใช่ฟังอย่างเดียวในแพลตฟอร์มเดิม ยกตัวอย่าง Salmon Podcast ที่เราสามารถขายงานลูกค้าได้แบบครบวงจร สามารถเลือกได้เป็นแพกเก็จว่าจะเป็นแบบมีเดีย คอนเทนต์ หรือเน้นโฆษณา เน้นที่ Podcast เพราะภาพในวันนี้สามารถเป็นได้ทั้งมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์

เทรนด์ Podcast ที่คนไทยชอบฟัง

ชินทัต : อาจต้องคอยอัพเดทเทรนด์การจัดอันดับ แต่ส่วนใหญ่คนไทยจะชอบเรื่องลี้ลับและธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีคอนเทนต์หลากหลายแทบทุกประเภทที่คิดไม่ถึงก็มี

นทธัญ : คอนเทนต์ที่ใหม่ สด อร่อย เป็นธีมของ Salmon Podcast ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นเรื่องดี เทรนด์ที่คนชอบฟังน่าจะมีความหลากหลายแล้วแต่ความต้องการ แต่ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์ที่พูดคุยเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม ทฤษฎีสมคบคิด เอเลี่ยน ข่าว ล้วนได้รับความนิยม แต่สิ่งที่สำคัญพอกับคอนเทนต์ คือ เรื่องเวลา ที่เราต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคอนเทนต์มีความเหมาะสม คนฟังอาจรู้สึกว่ารายการยาวได้ แต่ไม่ควรทำให้เขารู้สึกว่านานเพราะนั่นหมายถึงความน่าเบื่อ

พลสัน : เราเห็นเทรนด์รายการแนวพัฒนาตนเอง ทั้งด้านจิตใจ การเงิน และภาษา รวมถึงรายการข่าวและความบันเทิงต่าง ๆ โดยเฉพาะรายการในรูปแบบรายวัน เน้นความถี่ในการนำเสนอ กับความยาว 18-20 นาที ก็กำลังเป็นเทรนด์ที่คนฟังให้ความสนใจ เพราะสามารถฟังได้บ่อยและใช้เวลาไม่นานในการฟัง

Resources

● marketingoops.com

● freepik.com